pre -Trip : ทุ่งครุ - อาศรมศิลป์ : 07/07/2010
Trip : 2 nd day : ลำปาง : 25/07/2010
เช้าวันนี้ อากาศเย็นสบาย ครึ้มฝนเล็กน้อย อาหารเช้ามื้อแรกที่ลำปางวันนี้คือ ข้าวซอย ร้านดังติดกับโรงแรม อร่อยสมคำร่ำลืออย่างที่เค้าว่ากันจริงๆ
วัดไหล่หิน
เช้าวันนี้ เราเริ่มกันที่วัดไหล่หิน ซึ่งเป็นวัดเล็กๆแห่งหนึ่งใน จ.ลำปาง วัดนี้มีความพิเศษ ตรงที่มีการบูรณะวัดขึ้นมาใหม่โดยรักษารูปแบบสถาปัตยกรรมแบบเดิมไว้ โดยเปรียบเทียบกับอุโบสถที่สร้างขึ้นมาใหม่ จะเห็นถึงความแตกต่างในเรื่องของสัดส่วนและวัสดุอย่างชัดเจน
ซุ้มประตู วิหาร เจดีย์ ระเบียงแก้ว ที่มีเสกลเดียวกัน
ระเบียงคด ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมสมัยก่อน
วัดพระธาตุลำปางหลวง
ต.ลำปางหลวง อ.เกาะคา จ.ลำปาง
เป็นวัดที่สำคัญของอาณาจักรล้านนาในสมัยโบราณ สร้างมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล สันนิษฐานว่าวัดนี้น่าจะมีอายุประมาณ พุทธศตวรรษที่20 และมีการบูรณะซ่อมแซมตลอดมา
องค์พระธาตุเจดีย์ สูงประมาณ 7 ศอก ภายในบรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า
บริเวณทางเดินรอบๆวิหารหลวง
วิหารหลวง สร้างเมื่อ พ.ศ. 2019โดยเจ้าหมื่นคำเพชร ภายในมีซุ้มมณฑปประดิษฐานพระเจ้าล้านทอง ภายในมีภาพจิตรกรรมทศชาติ และพรหมจักรซึ่งสร้างขึ้นประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ 25
วัดปงยางคก
เป็นวัดเล็กๆในจ.ลำปาง
บรรยากาศรอบๆวัด แสดงให้เห็นถึงพิธีกรรมและความเชื่่อของชาวล้านนา
วิหารพระแม่เจ้าจามเทวี
สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 1253 เป็นโครงสร้างไม้ทั้งหมด โชว์โครงสร้างและไม่มีการตีฝ้าปิดซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมล้านนา
เมื่อเข้าไปภายในจะรู้สึกสงบ ด้วยเพดานสูง ภายในออกแบบโดยคำนึงถึงผู้ใช้ โดยออกแบบช่องเปิดให้พอดีกับระยะความสูงของคนเวลานั่งไหว้พระ และสามารถถ่ายเทอากาศได้เป็นอย่างดี
Trip : 3 rd day :ลำปาง: 26/07/2010
วัดพระแก้วดอนเต้า
หรือชื่อเต็มๆคือ วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม เป็นวัดที่เก่าแก่และสวยงามมีอายุนับพันปี เคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 1979 เป็นเวลานานถึง 32 ปี
เหนือประตู 2 ข้าง เป็นตำแหน่งของสิงห์คู่ เอกลักษณ์วัดเมืองลำปาง
สาเหตุที่วัดนี้ได้ชื่อว่า วัดพระแก้วดอนเต้า ก็เนื่องมาจากพระมหาเถรแห่งวัดนี้ได้พบ แก้วมรกตในแตงโม( ภาษาเหนือ เรียกว่า หมากเต้า) และได้นำมาแกะสลักเป็นพระพุทธรูป ต่อมาได้มีการอัญเชิญไปไว้ที่พระธาตุลำปางหลวง จนถึงปัจจุบัน
ภายในมีการออกแบบช่องลม เป็นลูกกรงไม้ ข้างบนเป็นภาพเขียนจิตรกรรม
พระเจดีย์องค์ใหญ่ ประดิษฐานพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า และมณฑปศิลปะพม่าที่มีลักษณะงดงาม
ชุมชนชาวลำปาง
วันนี้เราลงสำรวจชุมชนในจังหวัดลำปาง ซึ่งบ้านแต่ละหลังมีความเป็นเอกลักษณ์ของบ้านพื้นถิ่นทางภาคเหนือ ใช้ใต้ถุนบ้านเป็นพื้นที่กิจกรรมต่างๆส่วนใหญ่ของวัน ทั้งนั่งเล่น เก็บของ เลี้ยงไก่ เป็นต้น มีการใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติ
มีสเปซที่น่าสนใจหลายจุด เช่น ทางเข้าหน้าบ้าน มีการจัด Landscape โดยใช้ต้นไม้พื้นถิ่น รั้วบ้านที่เป็นผักสวนครัว สามารถนำมาปรุงอาหารได้ ประตูรั้วหน้าบ้านที่เกิดจากภูมิปัญญาพื้นบ้าน
บ้านหลังนี้มี Approach ที่สวยมาก
ต.แจ้ซ้อน อ.เมืองปาน จ.ลำปาง
เราแวะกินข้าวกลางวันกันที่นี่ วัดข่วงกอม วัดที่สร้างขึ้นมาใหม่แต่ยังคงใช้ระเบียบแบบแผนและเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมไทยโบราณ เป็นแนวทางในการออกแบบ มีการซ้อนชั้นของหลังคา ลดหลั่นกันเพื่อทอนสเกลความสูงของหลังคาลง
เดิมวัดข่วงกอมเป็นวัดเก่าแก่ ที่สร้างโดยครูบาศรีวิชัย มีอายุกว่า 200ปี มีสภาพทรุดโทรมมาก จึงได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นมาใหม่ โดย ดร.วทัญญู ณ ถลาง ซึ่งท่านเป็นสถาปนิกที่มีชื่อเสียงของไทย ได้ทำการออกแบบใหม่ทั้งหมด แต่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของล้านนาเดิมของท้องถิ่น
ข้างๆกันนั้นเป็นกุฏิพระที่สร้างขึ้นมาใหม่ ภายในออกแบบให้มีกุฏิเล็กๆแยกออกเป็นหลังๆแต่เชื่อมกันด้วยสเปซตรงกลาง มีความร่มรื่น สงบ เหมาะกับการศึกษาพระธรรมเป็นอย่างมาก
แต่เนื่องจากตัวกุฏิตั้งอยู่ในทิศทางไม่เป็นมงคล ซึ่งขัดกับความเชื่อของล้านนาทำให้ไม่มีใครเข้าไปใช้กุฏิหลังนี้
เดินเข้าไปอีกนิด จะเจอกับบ้านหลังหนึ่ง เมื่อมองเข้าไปจะรู้สึกได้ถึงความร่มรื่น ด้วยต้นไม้นานาพันธุ์ที่คุณลุงเจ้าของบ้านปลูกเองกับมือ อาจารย์น้ำบอกว่าลุงแกจัดสวนเก่งมาก ลุงแกก็คงปลื้มอยู่ไม่น้อย ดูจากหน้าตา
หลังบ้านแกติดทุ่งนา และลำธารเล็กๆ พวกเราจึงสนุกสนานกับการเดินเล่นในท้องนาอย่างมีความสุข
หลังจากที่เราเหน็ดเหนื่อยกันมาทั้งวันแล้ว ก็ถึงเวลาพักผ่อน ที่อุทยานน้ำตกแจ้ซ้อน ที่นี่มีน้ำตกและบ่อน้ำพุร้อนให้ลงไปแช่กันได้ตามสบาย
ตอนเย็นเราแวะกินข้าวกันที่ตลาดในเมือง วันนี้เป็นวันเข้าพรรษา พวกเราจึงถือโอกาสนี้ในการเวียนเทียนที่วัดแถวๆนั้น จำชื่อไม่ได้แล้ว นานๆทีได้มีโอกาสเวียนเทียนซักครั้ง ถือเป็นสิริมงคลในการเดินทางครั้งนี้ของเราต่อไป
Trip : 4 th Day : ลำปาง : 27/07/2010
วัดปงสนุก
เป็นวัดที่ได้รับรางวัลด้านการบูรณะปฏิสังขรณ์ดีเด่น จากองค์การยูเนสโก โดยการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากทุกส่วนในชุมชน ทั้งพระสงฆ์และชาวบ้าน ช่วยกันให้ข้อมูลและร่วมกันศึกษาประวัติศาสตร์ โดยการบูรณะครั้งนี้ใช้ความละเอียดอ่อนอย่างยิ่งในการฟื้นฟูและตกแต่งประดับอาคารใหม่ เพื่อให้ได้ลักษณะและรูปแบบของสถาปัตยกรรมดั้งเดิมให้ได้มากที่สุด
วัดปงสนุกนี้แบ่งออกเป็นวัดปงสนุกเหนือและใต้ เนื่องจากมีอาณาเขตที่มากเกินไป ทำให้ต้องแบ่งเป็น 2 ฝั่ง เพื่อให้ง่ายต่อการดูแล
สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยที่เจ้าอนันตยศ ราชบุตรของพระนางจามเทวีแห่งหริภุญไชย (ลำพูน) เสด็จมาสร้างเขลางค์นคร (ลำปาง) เมื่อ พ.ศ.1223 หรือ 1,328 ปีก่อน
เจดีย์และวิหารพระเจ้าพันองค์ ซึ่งมีธรรมเนียมในการขุดดินไปถมบนที่ตั้งของวิหาร ด้วยเชื่อว่าหากไม่ขุดดินไปถมน้ำจะท่วมบ้าน
วัดศรีรองเมือง
ตั้งอยู่ที่ ต.สบตุ๋ย อ.เมือง จ.ลำปาง อยู่ทางทิศใต้ของตัวเมืองลำปาง ด้านหลังวัดติดกับแม่น้ำวัง สร้างโดยคหบดีชาวพม่าซึ่งมารับจ้างฝรั่งชาวอังกฤษทำสัมปทานไม้ภาคเหนือ โดยมีความเชื่อว่าเมื่อพวกเขาได้ตัดไม้ โค่นต้นไม้ในป่า ย่อมต้องมีการขอขมาต่อธรรมชาติ หรืออีกนัยหนึ่งคือ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ พร้อมอธิษฐานให้สิ่งศักดิ์สิทธ์ในป่าคุ้มครองพวกเขาไม่ให้มีอันตราย
ตอนที่เราไปนั้นมีการบูรณะซ่อมแซมพระอุโบสถใหม่ทั้งหลัง เราจึงอดเห็นความสวยงามของอุโบสถหลังนี้ ซึ่งเป็นศิลปะแบบพม่าอย่างชัดเจน
ตัววิหารสร้างด้วยไม้สัก หลังคาซ้อน เป็นซุ้มเรือนยอดและเป็นกลุ่มของชั้นหลังคา มีลายฉลุบนสังกะสี
ภายในวิหาร มีพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะพม่าแบบมัณฑเลย์ มีเสาไม้ตกแต่งด้วยศิลปะการปั้นรักเป็นลวดลายเครือดอกไม้ พันธุ์พฤกษาแล้วประดับด้วยกระจกหลากสี
พาไปดูห้องน้ำพม่าสมัยโบราณ... หรูหราไฮโซมากก
บ้านชาวบ้าน....เรื่อยๆตามทาง
คนที่นี่มีวิถีชีวิตอยู่กับธรรมชาติ ปลูกบ้านโดยภูมิปัญญาของช่างสมัยก่อน หน้าบ้านเป็นลานดินโล่ง เป็นบ้านแบบยกพื้นใต้ถุนสูง ข้างล่างใช้เก็บฟืน มีการใช้ผนังไม่ไผ่ขัดแตะผสมกับผนังไม้แผ่นและสังกะสี เป็นการผสมผสานวัสดุที่ต่างกันได้อย่างลงตัว
การเลือกใช้วัสดุที่ต่างกัน ทำให้เกอดเส้นตั้งและเส้นนอน มีการจัดวางองค์ประกอบได้อย่างลงตัว ทำให้เกิดมีรายละเอียดที่สวยงามขึ้น
คืนนี้เราย้ายที่นอนจากลำปางมานอนที่โรงแรมเล็กๆในตัวเมืองสุโขทัย ซึ่งเราต้องใช้เวลาเล็กน้อยในการทำความรู้จักและศึกษาเส้นทาง หาร้านอาหารอร่อยๆในเมืองนี้
Trip : 5 th Day : สุโขทัย : 28/07/2010
อุทยานประวัติศาสตร์ สุโขทัย
เราเริ่มการเดินทางตั้งแต่เช้า 8โมงล้อหมุน ที่แรกในทริปวันนี้คือ จุดที่เป็นหัวใจของชาวเมืองสุโขทัยในสมัยก่อน คือ ทำนบพระร่วง หรือสรีดภงส์ ตั้งอยู่นอกกำแพงเมือง ซึ่งเป็นแหล่งธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ เปรียบเสมือนหลังคาที่สามารถรองรับน้ำฝนได้อีกด้วย ซึ่งเป็นความฉลาดของคนในเมือง ที่รู้จักการสร้างคันดินขึ้นมาเพื่อผันแปรทิศทางของน้ำ ให้ระบายไปยังส่วนต่างๆของตัวเมือง ใช้สำหรับอุปโภคบริโภคภายในเมือง
เข้ามาในตัวเมืองเก่า...เมืองมรดกโลก
วัดมังกร
จากซากที่หลงเหลืออยู่ เราจะเห็นกำแพงที่แบ่งเขตของวัด
วัดมหาธาตุ
เป็นวัดสำคัญของสุโขทัย เป็นศิลปะแบบสุโขทัยแท้ มีเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ล้อมรอบด้วยเจดีย์ 8 องค์
ภาพรวมของวัดสวยงามมาก โดยเฉพาะเวลาสะท้อนกับน้ำ
วัดศรีชุม
วัดพระพายหลวง
เมืองลับแล จ.อุตรดิตถ์
วัดดอนสัก
เราแวะกินข้าวกลางวันกันที่วัดดอนสัก และเนื่องในโอกาสวันเข้าพรรษา พวกเราจึงนำหลอดไฟพรรษามาถวายพระเพื่อเป็นสิริมงคลกับชีวิต
วัดแห่งนี้มีพระอุโบสถที่เก่าแก่ มีสัดส่วนที่สวยงาม ลวดลายหน้าบันเป็นลายขมวด แกะสลักด้วยไม้ลวดลายวิจิตรสวยงาม ลวดลายของบานประตูและหน้าบันเป็นองค์ประกอบสำคัญ ที่ช่วยเสริมให้เข้ากับอาคาร
หน้าบันแกะสลักด้วยไม้ มีความวิจิตรสวยงามมาก
เดินต่อเข้าไปที่ชุมชนตรงข้ามกับวัด เราก็จะพบกับบ้านพื้นถิ่นที่มีวิธีการก่อสร้างโดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยใช้วัสดุธรรมชาติที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นของตนเอง
Trip : 7 th Day : สุโขทัย : 30/07/2010
อุทยานประวัติศาสตร์ ศรีสัชนาลัย
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยตั้งอยู่ที่ตำบลศรีสัชนาลัย บริเวณที่เรียกว่า “แก่งหลวง” ห่างจากตัวอำเภอศรีสัชนาลัยลงมาทางอำเภอสวรรคโลก 11 กิโลเมตร ศรีสัชนาลัยเป็นเมืองพี่เมืองน้องกับสุโขทัย มีการใช้กำแพงศิลาแลง เพื่อบอกขอบเขต มีการใช้เส้นแกนในการวางตำแหน่งที่ตั้งต่างๆ
วัดกุฎีราย
ศรีสัชนาลัย แหล่งครื่องปั้นดินเผาของไทย
วัดเจดีย์เก้ายอด
เดินทางตามเส้นทางของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ตามเส้นทางจะพบกับวัดเก่าต่างๆ มากมาย แสดงให้เห็นว่า ในสมัยก่อนวัดมีบทบาทสำคัญในการดำรงชีวิตประจำวันของคนสมัยก่อนเป็นอย่างมาก
วัดนางพญา มีลวดลายปูนปั้น ประดับผนังที่มีชื่อเสียงว่างดงามมาก
วันนี้เหนื่อยมาก เพราะต้องเดินเท้าไปหลายที่ แต่เราก้อยังคงมีแรงไปเล่นเนตที่ร้านเนตหน้าโรงแรมได้เหมือนทุกวัน
Trip : 8 th Day : สุโขทัย : 31/07/2010
ชุมชนกงไกรลาศ
เป็นรูปแบบของชุมชนเก่า ที่สภาพบ้านเรือน มีลักษณะเป็นตึกแถวสมัยโบราณ หน้าบ้านเปิดเป็นร้านขายของต่างๆ ที่ยังคงดำรงรักษาวิถีชีวิตและแบบแผนดั้งเดิมเอาไว้
การตกแต่งหน้าร้านยังคงเป็นแบบสมัยเก่า
สนามบินสุโขทัย
เป็นสนามบินของ Bangkok Airways ที่ใช้เอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมแบบไทยเป็นต้นแบบในการออกแบบเกือบทั้งโครงการ ทั้งตัวอาคารรับรองผู้โดยสาร และส่วนของที่พักภายในสนามบิน
โดยการนำเอาเอกลักษณ์ของการวางอาคารของสถาปัตยกรรมสมัยโบราณมาประยุกต์ให้เข้ากับสมัยใหม่ โดยพยายามใช้วัสดุที่ใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด
วันนี้เรานอนพักที่นี่เป็นคืนสุดท้ายแล้ว ก่อนที่พรุ่งนี้เราจะเดินทางกลับกรุงเทพ คิดแล้วก้อใจหายเหมือนกันนะ เวลามันช่างผ่านไปรวดเร็วเหลือเกิน นี่ก็วันที่8แล้ว เหลือพรุ่งนี้อีก 1วันเท่านั้น..
Trip : 9 th Day : พิษณุโลก : 1/08/2010
พิษณุโลก
เริ่มทริปวันสุดท้าย กันที่วัดราชบูรณะ วัดที่อยู่ใจกลางเมืองพิษณุโลก อยู่เยื้องกับวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหารหรือวัดหลวงพ่อพระพุทธชินราช
วัดราชบูรณะเป็นวัดโบราณ ที่สร้างขึ้นสมัยสุโขทัย และปฏิสังขรณ์ในสมัยพระเจ้าลิไท ภายในวัดมีโบราณสถานที่สำคัญอยู่มากมาย
ภายในมีพระประธาน พระพุทธรูปโลหะปางมารศรีวิชัย มีภาพจิตรกรรมผนังพระอุโบสถ ตอนบนเขียนเรื่องรามเกียรติ์ ตอนล่างเขียนเรื่อง กามกรีฑา เป็นจิตรกรรมสีฝุ่นบนผนังปูน ฝีมือช่างพื้นบ้าน
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหารหรือวัดหลวงพ่อพระพุทธชินราช
เดินข้ามสะพานลอยมาอีกฝั่งก็จะพบกับวัดชื่อดังของจ.พิษณุโลก ที่ประดิษฐานพระพุทธชินราช พระคู่บ้านคู่เมืองของคนไทย
บรรยากาศภายในวัดเต็มไปด้วยผู้คนมากมาย อาจเป็นเพราะวันนี้เป็นวันอาทิตย์ก็เป็นได้
หลังจากแวะชอปปิ้งของฝากกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ถึงเวลาที่เราต้องเดินทางกลับกรุงเทพกันแล้ว
เป็นอันว่าในที่สุด ทริปนี้ก็จบลงอย่างสวยงาม....^^
สรุป สิ่งที่ได้จากการไปทริป 9วัน
จากการที่ได้มีโอกาสไปสัมผัสวิถีชีวิตของคนในชุมชน ผู้เป็นเจ้าของพื้นที่แห่งนั้น ทำให้ได้รู้ว่าการที่เราจะเข้าไปสร้างหรือทำอะไรที่เป็นสิ่งใหม่ในที่ใดที่หนึ่งซักแห่ง สิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึงคือ ผลกระทบที่จะมีต่อคนในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อม หรือวิถีชีวิตดั้งเดิมที่ชาวบ้านเหล่านั้นได้เคยมีมาตั้งแต่เกิด
ภูมิปัญญาชาวบ้าน คือสิ่งที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ เพราะนั่นคือสิ่งที่พวกเราจะได้เรียนรู้ ในสิ่งที่คนโบราณได้สั่งสมประสบการณ์มาเป็นระยะเวลานาน ทั้งวิธีคิด และวิธีการประยุกต์สิ่งต่างๆเพื่อใช้ในการดำรงชีวิตประจำวัน
ขอบคุณอาจารย์ทุกท่านที่ให้ประสบการณ์อันมีค่าเหล่านี้ แก่พวกเราทุกคน....
ขอบคุณเพื่อนๆที่ร่วมผ่านช่วงเวลาแห่งความทรงจำมาด้วยกัน....
ขอบคุณตัวเองที่ผ่านมาได้ถึงทุกวันนี้....
สุดยอดเลยครับ
ReplyDeleteอ่านสนุกเป็นกันเอง
เห็นภาพเหมือนได้ไปด้วยตัวเองเลย
น่าสนใจมาก จัดพิมพ์เป็นพอกเกตบุคได้ 1 เล่ม เต็มๆเลยครับ
อยากอ่านต่อทุกๆวันครับ
ดีใจแทนวงการสถาปนิกลาดกระบังด้วยครับ
อยากให้มีอะไรดีๆแบบนี้ต่อไปทุกๆปีจากรุ่นสู่รุ่นครับ
ขอบคุณอาจารย์จากลาดกระบังที่สร้างเด็กรุ่นใหม่ให้วงการครับ
sam